ดั่งเดิมบน เกาะรัตนโกสินทร์



ดั่งเดิมบน เกาะรัตนโกสินทร์

Share :

ดั่งเดิมบน เกาะรัตนโกสินทร์



พื้นที่ตั้งเกาะรัตนโกสินทร์ในอดีตคือตำบลบางกอกซึ่งมีพื้นที่ทั้งฝั่งกรุงเทพมหานคร และฝั่งธนบุรี รวมเป็นแผ่นดิน
ผืนเดียวกัน มาก่อนชุมชนนี้เจริญเติบโต และหนาแน่นขึ้นเป็นลำดับพร้อมๆ กับความเจริญรุ่งเรือง ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา
นับแต่สมัย พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ.1893
ชุมชนเมืองบางกอกนี้ เจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ ถัดมาจากเมืองพระประแดง
ซึ่งเป็นเมืองด่านสำคัญที่รักษาพื้นที่ บริเวณปากอ่าวไทย

แต่เดิมนั้น แม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะคดเคี้ยวมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อการติดต่อค้าขาย
จึงเป็นเหตุ ให้พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัด ขึ้นหลายช่วง เพื่อลดระยะทางการเดินเรือจากทะเล ไปสู่กรุงศรีอยุธยา
โดยเฉพาะในสมัย พระไชยราชาธิราช ได้มีการขุดคลองลัดบางกอกขึ้น จากคลองบางกอกน้อย ถึงคลองบางกอกใหญ่ คือบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ข้างพระบรมมหาราชวังถึงท่าเตียนในปัจจุบัน
เป็นสาเหตุให้ แม่น้ำเปลี่ยนทิศทางจนคลองลัดขยายตัวกว้าง ออกกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนเส้นทางแม่น้ำเดิมกลับแคบลง และตื้นเขิน จนเปลี่ยนสภาพกลาย เป็นคลองบางกอกน้อย และคลองบางกอกใหญ่ ในเวลาต่อมา
ส่งผลให้สภาพพื้นที่บริเวณนี้เปลี่ยน จากแผ่นดินผืนเดียวกัน แยกออกเป็น 2 ผืน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่ากลางดังปัจจุบัน

ชุมชนเมืองบางกอก จึงเริ่มเปลี่ยนแปลง บทบาทจากหมู่บ้านสวนผลไม้ และไร่นามาเป็นเมืองด่านสำคัญ นับตั้งแต่ขุดคลองลัด แม่น้ำเสร็จเป็นเวลานานกว่า 300 ปี
ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียศรีกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพคืนมา และสถาปนาเมืองด่านสำคัญนี้ ขึ้นเป็นเมืองหลวงของกรุงธนบุรี

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงย้ายราชธานี จากฝั่งตะวันตกมายังตะวันออก สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการป้องกันพระนคร โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อซากป้อมบางกอกเดิม กับกำแพงเมืองครั้งกรุงธนบุรีลง เพื่อขยายกำแพงเมือง ขุดคูพระนครใหม่ และขุดคลองเพิ่ม
คลองคูเมืองเดิม ได้ขุดคลองโรงไหมที่มีอยู่เดิมทางด้านทิศเหนือ ของกรุงรัตนโกสินทร์ คลองตลาดด้านทิศใต้เชื่อมกัน ตลอดคลองทำให้กรุงรัตนโกสินทร์ มีสภาพเป็น เกาะเมือง มีน้ำล้อมรอบ

คลองรอบกรุง ได้ขุดคลองใหม่เชื่อมระหว่างคลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่างเพื่อเป็นการขยายแนวเขตพระนครออกไป มีคลองเล็ก ๆ เชื่อมคลองรอบกรุง และคลองคูเมืองเดิมสองคลองเรียกว่า คลองหลอด เพราะมีลักษณะแนวตรงเหมือนหลอด ปัจจุบันคือ คลองวัดเทพธิดา และคลองวัดราชบพิธ ทำให้พื้นที่โครงสร้างของเมืองแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่

  1. กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน คือ เขตกำแพงเมืองเก่า สมัยกรุงธนบุรีระหว่างคูเมืองเดิมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง
  2. กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก คือ ที่ดินระหว่างคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง ซึ่งเดิมเป็นที่รกร้างหรือเป็นไร่นามาก่อนเพราะเป็นเขตนอกกำแพงเมือง

 

กรุงรัตนโกสินทร์ยุคแรกมีพื้นที่ ภายในกำแพงเมือง 2,589 ไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชั้นใน 1,125 ไร่ และเขตชั้นนอก 1,464 ไร่ ความยาวของกำแพงเมือง โดยรอบพระนคร ประมาณ 7.2 กิโลเมตร ตามแนวกำแพงเมืองมีป้อม 14 ป้อม ประตูเข้าออกพระนคร 63 ประตู
ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ที่สำคัญ คือ มีการขยายเขพระบรมมหาราชวังออกไปทางทิศใต้อีก 20 ไร่ครึ่ง จนเกือบจด กับเขตวัดพระเชตุพน ฯ ในปี พ.ศ. 2361 โปรดให้ตัดถนนสายใหม่ คั่นเขตระหว่างพระบรมมหาราชวัง และวัดพระเชตุพนฯ ชื่อ ถนนท้ายวัง ซึ่งมีความสำคัญในการบรรจบ กับถนนสายเดิม ทำให้ขบวนแห่สามารถเคลื่อนรอบกำแพง พระบรมมหาราชวังได้ ดังเช่นปัจจุบัน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ให้มีการก่อสร้าง และบูรณะซ่อมแซมอาคารสำคัญในพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดารามจำนวนมาก และโปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ คือ เจดีย์ภูเขาทองขึ้นที่ภายนอกเขตกำแพง เมืองบริเวณปากคลองมหานาคต่อ กับคลองรอบกรุง เช่น ที่กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ มีการติดต่อทางการค้า และการเมืองกับต่างประเทศขยายตัวอย่างกว้างขวาง และมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งสำคัญ เนื่องจากประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไปเมื่อเทียบ กับตอนสร้างกรุง ทำให้อาณาเขตพระนครที่กำหนดไว้แต่เดิมคับแคบลง จึงโปรดให้ขยายพื้นที่พระนครออกไป ถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม ไม่มีกำแพงเมืองมีแต่ป้อม 7 ป้อม ทำให้พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ไร่ มีพัฒนาการด้านการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเปลี่ยนแปลงจากชุมชนในน้ำมาเป็นชุมชนบนบก โดยโปรดให้ตัดถนนขึ้นตาม ความต้องการของชาวจีน และชาวยุโรป เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนตรง ถนนสีลม ถนนเฟื่องนคร  และถนนบำรุงเมือง สองฝากถนนสายต่าง ๆ โปรดให้สร้างตึกแถว เป็นห้องแถวสูง 1-2 ชั้น เพื่อให้เช่าทำการค้าขาย ลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้เกิดชุมชนใหม่บนบก เป็นครั้งแรกของเกาะรัตนโกสินทร์

 

   รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งตรงกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปในคริสศตวรรษที่ 19 กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมณฑล ชื่อ มณฑลกรุงเทพมหานคร มีการปรับปรุงและขยายตัวให้ทันสมัยและทันรับความเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น โดยโปรดให้ขยายและปรับปรุงถนนสายเดิม และสร้างถนนราชดำเนินทั้งสายนอก สายกลาง และสายใน เพื่อเชื่อมการติดต่อระหว่างพระราชวังดุสิตที่ทรงสร้างขึ้นใหม่บริเวณทางเหนือกรุงรัตนโกสินทร์และพระบรมมหาราชวัง ทำให้เกิดงานออกแบบชุมชนเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ขยายตัวออกไป โดยปราศจากการวางแผน มีการขยายตัวของชุมชนต่าง ๆ เกิดเป็นย่านธุรกิจขึ้น เช่น ย่านการค้าของชาวจีนที่เยาวราช ย่านคนไทยที่บางลำพู ย่านธุรกิจของฝรั่งที่บางรัก ย่านอุตสาหกรรมตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และย่านเกษตรกรรมทางตอนเหนือของเมือง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดตัดถนน และสร้างสะพานเพิ่มเติมจากสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ในรัชกาลสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น ทรงครองราชย์เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งสองพระองค์ ประกอบกับเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ลักษณะทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์แทบไม่แตกต่างกันนัก

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม
พักผ่อนชิลๆ ย่านถนนพระอาทิตย์ พร้อมนอนพัก กับโรงแรม Muay Thai Hostel
พัก Muay Thai Hostels เที่ยวท่าไหนได้บ้าง



บทความ ที่น่าสนใจ

แนะนำ “หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ” แหล่งความรู้จัดเต็มย่านข้าวสาร

5 แหล่งเรียนรู้ น่าเที่ยวย่าน ถนนข้าวสาร




Muaythai Hostel

98/3-10 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
Tel : 02 629 2313